“หลวงพ่อเพชร อินทโชติ” วัดวชิรประดิษฐ์ จ.สุราษฏร์ฯ
เหรียญดังหลักล้าน…ประสบการณ์ “คงกระพันชาตรี”
โดย…ฉัตรสยาม
หลวงพ่อเพชร อินทโชติ (พระครูประกาศิตธรรมคุณ) อดีตเจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์ และปฐมเจ้าอาวาสวัดวชิรประดิษฐ์ (วัดเฉงอะ) ต.ตะเคียนทอง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี หรือที่ชาวบ้านเรียกภาษาใต้กันจนติดปาก “ พ่อเพชรวัดเงอะ” คือหนึ่งใน “ พระดีศรีสุราษฏร์” ที่มีนามว่า “ เพชร” ซึ่งเป็นพระคณาจารย์ผู้มีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวเมืองคนดีในอดีต จนกระทั่งทุกวันนี้ชื่อเสียงบารมีของท่านก็ยังเลื่องลือ ลูกศิษย์ของท่านที่มีชื่อเสียงเช่นกันก็คือ พระครูดิตถารามคณาศัย (ชม คุณาราโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าไทร
เหรียญหลวงพ่อเพชร อินทโชติ
นามเดิมของท่านคือ เพชร มีเชื้อสายจีน แซ่ตั้น (ภายหลังใช้นามสกุลว่า “ ยี่ขาว”) เกิด ณ บ้านประตูไชยเหนือ ต.ท่าวัง อ.กลางเมือง (อ. เมืองในปัจจุบัน) จ. นครศรีธรรมราช เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ปี ฉลู พ.ศ. 2395 ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นบุตรของ นายขาว และ นางกิมล้วน ท่านมีพี่น้องกี่คน และเป็นบุตรคนที่เท่าไรนั้นไม่ปรากฏข้อมูล ทราบเพียงว่ามีน้องชายอยู่หนึ่งคน
อายุได้ 8 ปี บิดามารดานำท่านไปฝากเล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของท่านพระครูการาม (จู) วัดมเหยงค์ จ. นครศรีธรรมราช จนอายุได้ 13 ปี จึงลาออกไปอาศัยอยู่ที่บ้านพระศิริธรรมบริรักษ์ (ขั้น) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ช่วยกิจการอยู่หลายอย่าง แต่ภารกิจที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ ครั้งหนึ่งเกิดจีนฮ่อยึดเมืองไทรบุรี ซึ่งเป็นหัวเมืองของไทยตอนใต้ ท่านเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ทราบข่าว จึงส่งท่านพร้อมพรรคพวกจำนวนหนึ่งไป จนกระทั่งได้รับชัยชนะจีนฮ่อแตกหนีไป ต่อมาทางกรุงเทพฯ ทราบข่าวจึงแจ้งให้เจ้าเมืองส่งตัวท่านไปให้ดูตัว แต่ท่านไม่ต้องการไป จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้าน
กระทั่งอายุได้ 30 ปี บิดามารดาถึงแก่กรรมหมด หลังจากที่ท่านออกจากบ้านพระศิริธรรมบริรักษ์แล้ว ได้หลบซ่อนตัวและประกอบอาชีพส่วนตัวอยู่ที่บ้านประมาณ 12 ปี ในระหว่างนี้ ได้ถือโอกาสไปเล่าเรียนกับอาจารย์ทางไสยศาสตร์ในด้านอยู่ยงคงกระพันและอื่นๆ หลังจากที่ได้เล่าเรียนแล้วกลับมามีเรื่องเล่ากันว่า ท่านอยากทดลองว่าวิชาที่เรียนมาโดยเฉพาะ “ อยู่ยงคงกระพัน” มีความเป็นจริงอย่างไร จึงวางแผนเพื่อปล้นบ้านคฤหบดีท่านหนึ่งในเมืองนครศรีธรรมราช โดยได้บอกให้เพื่อน ๆ รู้ เพื่อจะได้ให้ข่าวรั่วไหล และคฤหบดีท่านนั้นจะได้เตรียมรับมือ
เมื่อถึงเวลาคืนเดือนมืด ท่านก็ลงมือปฏิบัติการเดี่ยว โดยได้ปะทะกับลูกน้องของคฤหบดีเกิดการไล่ฟันกัน ครั้นจวนตัวเข้าและประกอบกับตัวท่านเห็นบ่อน้ำแห่งหนึ่งเป็นเงาตะคุ้มอยู่กลางทุ่งนา จึงกระโดดลงไปซ่อนตัวในบ่อน้ำนั้นเมื่อพรรคพวกของคฤหบดีเห็นเข้าเช่นนั้น ต่างก็พุ่งอาวุธอันแหลมคมลงไปในบ่อหวังจะฆ่าให้ตาย และเมื่อทุกคนคิดว่าท่านตายแล้ว จึงชวนกันกลับโดยตั้งใจว่าเช้าวันรุ่งขึ้นจะมาดูศพ เมื่อท่านเห็นว่าสงบเสียงคนแล้วก็ขึ้นมาจากบ่อน้ำกลับบ้านโดยที่อาวุธทั้งหลายนั้นไม่สามารถจะชำแรกผ่านผิวกายและเรียกเลือดของท่านได้เลย
ส่วนวิชาล่องหน หายตัว กำบังกาย ได้เล่าว่า สมัยนั้นในเมืองนครศรีธรรมราช มีการเปิดโรงบ่อนเบี้ยถั่วโปกันมาก และท่านอยากจะลองวิชานี้โดยตั้งใจว่าจะหายตัวแล้วไปกวาดเอาเงินผู้เป็นเจ้ามือ เมื่อคิดดังนั้นแล้ว พอถึงเวลาท่านก็เอาผ้าขาวม้ามาบริกรรมเวทมนต์ แล้วนำผ้านั้นโพกศีรษะเข้าไปกวาดเงินดังกล่าว เป็นเหตุให้ความโกลาหลเกิดขึ้น แต่ไม่มีใครสามารถมองเห็นและจับตัวท่านได้ ทิ้งความฉงนสนเท่ห์ไว้แก่ผู้อยู่ในเหตุการณ์นั้นเสมอมา
ครั้นเมื่ออายุ 42 ปีท่านเกิดเบื่อหน่ายต่อชีวิตความเป็นอยู่ภายในบ้าน จึงตัดสินใจจะไปเยี่ยมน้องชายซึ่งประกอบอาชีพอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่พอเดินทางมาถึงบ้านดอน อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ก็เกิดเจ็บป่วยอย่างกะทันหัน จึงเข้าไปขอพักอาศัยและรักษาตัวอยู่กับพระอธิการแดง เจ้าอาวาสวัดไทร จนหายป่วยเป็นปกติก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดกลาง บ้านดอน
พระครูสุวรรณรังษี (มี) เจ้าอาวาสวัดกลาง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระใบฎีกากล่อม วัดโพธิ์ไทรงาม (วัดโพธาวาสในปัจจุบัน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระแดง เจ้าอาวาสวัดไทร บ้านดอน เป็นพระอนุสาวนาจารย์, ได้รับฉายาว่า “ อินทโชติ” แปลว่า “ ผู้รุ่งเรืองดุจพระอินทร์” ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่กับพระแดงเป็นเวลาถึง 2 พรรษา
ต่อมา พ.ศ. 2439 ชาวบางกุ้งได้นิมนต์ไปอยู่ที่วัดท่าทองใหม่ อ. เมือง จ. สุราษฎร์ฯ ท่านได้ปลูกสร้างกุฏิ วิหาร อุโบสถ ได้สำเร็จเป็นหลักฐานแล้ว ได้จัดการผูกพัทธสีมาในปี พ.ศ. 2451 หลังจากนั้นชาวบ้านเฉงอะนำโดย นายแก้ว รัตนมุสิก อดีตมรรคนายก, นางแย้ม เมืองน้อย อดีตอุบาสิกา ได้พากันนิมนต์ท่านไปอยู่วัดดอนตะเคียน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีฐานะเป็นวัด โดยท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์จนเจริญรุ่งเรือง และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มีฐานะเป็นวัดถูกต้องตามกฎหมายในปีพ. ศ. 2448 โดยมีชื่อว่า “ วัดวชิรประดิษฐ์” ซึ่งหมายความว่า “ วัดที่ท่านหลวงพ่อเพชรเป็นผู้สร้างขึ้น” ท่านได้ดาเนินการจัดการขอวิสุงคามสีมา ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส รวมทั้งก่อสร้างอุโบสถสำเร็จเรียบร้อยในปีเดียวกันนี้
มีเรื่องเล่ากันว่า “ ในขณะที่ท่านกำลังทำการยกเสาเอกอุโบสถ ซึ่งเป็นเสาไม้ตำเสาขนาดใหญ่ เหลากลมตกแต่งเรียบร้อย เสาไม้ต้นนั้นได้ล้มลงมาทับขาของท่าน แต่ท่านกลับไม่ได้รับอันตรายรุนแรงอะไร นอกจากเพียงเดินเหินขาเป้เล็กน้อยเท่านั้นเอง” นับว่าเป็นอภินิหารเรื่องหนึ่งของท่าน
ในสมัยหลวงพ่อเพชรมีชีวิตอยู่ท่านอบรมสั่งสอนสานุศิษย์ให้ดำรงตนเป็นคนดีของสังคม ฝ่ายบรรพชิต เช่นพระครูดิตถารามคณาศัย (ชม คุณาราโม) อดีตเจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์และเจ้าอาวาสวัดท่าไทร, พระอุปัชฌาย์พุ่ม ฉนโทอดีตเจ้าคณะตำบลกรูดและอดีตเจ้าอาวาสวัดปากคู พระครูกัลยาณานุวัตอดีตเจ้าอาวาสวัดวชิรประดิษฐ์ (วัดบ้านเฉงอะ) พระครูพินิต เขมิเขต (สะอึ้งจนทาโภ) เจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์ (กิตติมศักดิ์) และเจ้าอาวาสวัดเขาแก้ว (กิตติมศักดิ์) ฝ่ายคฤหัสถ์ เช่น คุณครูกล้ำพัฑสุนทร, ครูน้อม แดงสุภา, นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตนักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ (รุ่น ๑) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดสุราษฎร์ธานีหลายสมัยเป็นต้น
หลวงพ่อเพชรนอกจากจะเป็นพระนักพัฒนาแล้ว ในด้านการศึกษาท่านยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการเปิดสอนหนังสือไทยขึ้น โดยจัดให้บุตรหลานทั้งชายและหญิงของชาวบ้านเฉงอะและบ้านใกล้เคียงได้เข้ารับการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนวัดโดยท่านได้จัดให้ใช้กุฏิของวัดเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนชั่วคราว พร้อมกับจัดหาครูเข้าสอนโดยให้ผู้ปกครองช่วยกันทำงานให้ครูเป็นค่าตอบแทน 1 วันต่อเดือน และเมื่อมีนักเรียนมากขึ้น ท่านจึงได้ก่อสร้างอาคารเรียนขึ้น และขออนุญาตตั้งเป็นโรงเรียนประชาบาล โดยมี นายพัฒน์ กาญจนประทุมธรรมการจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ศึกษาธิการจังหวัด) มาเป็นผู้เปิดเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2450 และให้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนวชิราวิทยานุกูล” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่หลวงพ่อเพชร ผู้ริเริ่มก่อตั้ง
พ.ศ. 2453 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์และเจ้าคณะแขวงกาญจนดิษฐ์ พ.ศ. 2459 ได้ไปช่วยบูรณะปฏิสังขรณ์วัดกำแพง (วัดกาญจนาราม) เป็นเวลา 3 ปี พ.ศ. 2461 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “ พระครูประกาศิตธรรมคุณ” พ.ศ. 2464 กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ประถมศึกษา เกณฑ์บังคับเด็กเข้าเรียน ทำให้ โรงเรียนวชิราวิทยานุกูลเป็นโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ในปัจจุบันก็คือ “ โรงเรียนวัดวชิรประดิษฐ์” สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ท่านแก่ชราลงมากจนไม่สามารถเดินทางออกนอกสถานที่เพื่อประกอบศาสนกิจได้คณะสงฆ์ก็ได้ยกท่านเป็นกิตติมศักดิ์ และในปีเดียวกันนี้เองท่านได้สร้างพระพุทธรูป จำนวนองค์ ซึ่งหล่อขึ้นด้วยเงินเหรียญสยามเป็นเงินที่ใช้หล่อจำนวน 2,477 บาท เท่าปี พ.ศ. ซึ่งเป็นพระคู่วัดมาจวบจนปัจจุบัน ชาวบ้านจะเรียกชื่อว่า “ พระเงิน” ซึ่งปัจจุบันได้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีภายในพิพิธภัณฑ์ของวัดวชิรประดิษฐ์
บั้นปลายชีวิตท่านอาพาธด้วยโรคชรามาตั้งแต่ปีก่อน ๆ อาการได้ทรุดหนักลงจนลุกไปไหนไม่ได้ รวมทั้งฉันน้ำและอาหารก็ไม่ได้ จนกระทั่งมรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2480 เวลา 13.05 น. สิริรวมอายุได้ 85 ปี 42 พรรษา คณะศิษยานุศิษย์จัดให้มีการบำเพ็ญกุศลศพเป็นเวลา 3 วันแล้วเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล 7 วัน 50 วันและ 100 วันตามประเพณี โดยจัดให้มีการสวดพระพุทธมนต์ (สวดศพ) ทุกวันธรรมสวนะ (วันพระ) แล้วจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 12 มิ.ย. 2481 ณ วัดวชิรประดิษฐ์
วัตถุมงคลหลวงพ่อเพชรที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากได้แก่ เหรียญรุ่นแรก, รูปถ่าย และล็อกเกต เหรียญของท่านจัดเป็นเหรียญที่มีประสบการณ์อันดับต้น ๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ และเป็น 1 ใน 3 เพชรที่เรียกได้ว่าสุดยอดเหรียญแห่งเมืองคนดี
เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก สร้างปี 2470 เช่าหาราคาถึงหลักล้าน เหรียญรุ่น 2 สร้างปี 2487 ราคาหลักหมื่นปลายถึงแสน เหรียญรุ่น 3 ปี 2505 หายากมาก พื้นที่เช่าหากันหลักพันปลายถึงหมื่น เคยมีคนที่ดอนสักห้อยแล้ว โดนยิงเสื้อพรุน แต่ไม่เข้า “ เหรียญแจกแม่ครัว” รุ่น 4 ปลุกเสกโดยเกจิอาจารย์ดังเมืองใต้หลายท่านและต่อหน้าดวงวิญญาณหลวงพ่อเพชร
ที่สำคัญ มีประสบการณ์ไม่แพ้รุ่นแรกและรุ่นสอง โดยเฉพาะทางด้านคงกระพันชาตรี
Tags : ข่าวพระ, พระเกจิดัง, พระเครื่องที่นิยม, พระเครื่องวัตถุมงคล, หลวงพ่อเพชร อินทโชติ, เหรียญที่นิยม